ประวัติความเป็นมา

กิจการตำรวจในยุคก่อนวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ นั้น ขึ้นอยู่กับ ๒ กระทรวง คือ กรมพลตระเวน ขึ้นกับกระทรวงนครบาล และกรมตำรวจภูธร ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ต่อมา เมื่อวันที่๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเป็นกรมเดียวกัน มีอธิบดีกรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน บัญชาการงานทั้งสองฝ่าย และให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล จึงถือว่าวันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี(เดิม) เป็นวันตำรวจ และในวันที่๑๗ มกราคม ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมพลตระเวน เป็นกรมตำรวจพระนครบาล

      ภายหลังที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเป็นกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่ากรมนี้เป็นกรมใหญ่ มีหน้าที่ราชการ ในส่วนลาดตระเวนท้องที่ทั่วราชอาณาจักร สมควรจะมีพนักงานจเรสำหรับตรวจตราการงานในกรมนี้ด้วยแผนกหนึ่ง จึงพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาล ตรากฎเป็นข้อบังคับไว้สำหรับเจ้าพนักงานแผนกจเรตำรวจ เรียกว่ากฎเสนาบดีกระทรวงนครบาล ว่าด้วยหน้าที่จเรกรมตำรวจพระนครบาลและกรมตำรวจภูธร ๒๔๕๘ ตั้งแต่ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๕๘ เป็นต้นไป มีจเรใหญ่ เป็นผู้รับผิดชอบราชการในหน้าที่จเรทั่วไป ขึ้นตรงจากเสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงถือว่าวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๕๘ เป็นวันสถาปนาของสำนักงานจเรตำรวจ

      ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นจเรใหญ่กรมตำรวจพระนครบาลและกรมตำรวจภูธรรับราชการสนองพระเดชพระคุณ